การจัดการขยะมูลฝอย

     ไม่น่าเชื่อว่าในระยะตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนขยะเฉลี่ยถึงปีละ 20 กว่าล้านตัน แต่กลับมีจำนวนขยะที่ถูกนำกลับไปใช้และกำจัดอย่างถูกต้องไม่เท่ากับจำนวนทั้งหมด จนกลายเป็นปัญหาขยะตกค้างและผลกระทบในหลาย ๆ ด้านทั้งสิ่งแวดล้อม คน และสัตว์ ตามมาเป็นห่วงโซ่ ซึ่งแหล่งกำเนิดขยะและแหล่งที่ขยะตกค้างอยู่ส่วนใหญ่ก็คือมาจากบ้านเรือนและชุมชน ฉะนั้นตอนนี้หลาย ๆ แห่งจึงเริ่มตระหนักและลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาขยะตั้งแต่ต้นทางด้วยตัวเองกันมากขึ้น เพื่อช่วยให้ชุมชนกลับมาสะอาดและน่าอยู่อีกครั้ง ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจและตัวอย่างให้กับชุมชนอื่น ๆ

     จากสถานการณ์ของขยะมูลฝอยชุมชนที่แสดงให้เห็นว่า จำนวนการผลิตขยะและการจัดเก็บขยะสวนทางกัน จึงทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับขยะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งต้องบอกเลยว่าขยะสามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนในชุมชนได้อีกด้วย ดังนี้

► เป็นแหล่งพาหะนำโรค : ขยะมูลฝอยที่ตกค้างในชุมชนถือเป็นแหล่งอาหาร แหล่งเพาะพันธุ์ และแหล่งซุกซ่อนชั้นดีของสัตว์พาหะนำโรค เช่น หนู ยุง แมลงวัน และแมลงสาบ ซึ่งนอกจากจะส่งผลด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลต่อสุขอนามัยตามมาด้วย

► ทำลายทัศนียภาพ : ขยะมูลฝอยที่ตกค้างในชุมชนทำให้เกิดความสกปรก ความไม่สวยงาม และเกิดเป็นภาพที่ไม่น่ามอง

► ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น : ขยะมูลฝอยที่ตกค้างในชุมชนทำให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวน ก่อให้เกิดความรำคาญใจ และอาจจะบั่นทอนสุขภาพของคนในชุมชนได้

► ทำให้อากาศเสีย : ขยะมูลฝอยที่ถูกเทกองข้างทางนั้นอาจจะปลิวไปในอากาศ ทำให้เกิดความสกปรกและส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนได้ ยิ่งไปกว่านั้นการเผาขยะมูลฝอยบนที่กลางแจ้ง ยังทำให้เกิดควัน ขี้เถ้า และมลพิษทางอากาศได้อีกด้วย

► ทำให้ดินเสีย : ขยะมูลฝอยที่ตกค้างบนพื้นดินในชุมชนยังทำให้ดินเสีย เพราะมีสารพิษและน้ำชะขยะปนเปื้อนอยู่ นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนสภาพความเป็นกรด-ด่างรวมไปถึงลักษณะทางกายภาพของดินได้อีกด้วย

► ทำให้น้ำเสีย : ขยะมูลฝอยที่ถูกทิ้งในแม่น้ำ รวมถึงขยะมูลฝอยที่ตกค้างในชุมชนจนไหลลงไปสู่แม่น้ำเมื่อฝนตก ทำให้แหล่งน้ำสกปรก เน่าเสีย และมีสารพิษเจือปน จนส่งผลกระทบต่อคนและสัตว์ที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ อีกทั้งยังยุ่งยากต่อการนำปรับปรุงเพื่อบริโภค และเป็นสาเหตุที่ทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน

► ทำให้เกิดไฟไหม้ : กองขยะมูลฝอยที่หมักหมมในชุมชนเป็นเวลานาน ยังก่อให้เกิดก๊าซชีวภาพและติดไฟง่ายขึ้นอีกด้วย

ประโยชน์ที่ชุมชนได้รับจากการคัดแยกขยะ

1. ช่วยให้ปริมาณขยะของแต่ละชุมชนลดน้อยลง จึงบรรเทาภาระการจัดการขยะของหน่วยงานต่าง ๆ ลงไปด้วย

2. ช่วยให้สิ่งแวดล้อมในชุมชนสะอาด สวยงาม น่าอยู่ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมทั้งช่วยลดมลพิษไปในตัว

3. ช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้เสริม และมีรายได้เข้ามาพัฒนาชุมชนไปพร้อม ๆ กัน

4. ช่วยให้คนในชุมชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคัดแยกขยะและสามารถจัดการขยะเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง

5. ช่วยให้คนในชุมชนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูดสุดผ่านการแปรรูปขยะและนำกลับมาใช้ใหม่

6. ช่วยให้คนในชุมชนมีปุ๋ยชีวภาพและน้ำหมักจุลินทรีย์ไว้ใช้ทำการเกษตรแถมยังเป็นการกำจัดขยะอินทรีย์อย่างเป็นธรรมชาติอีกด้วย

7. ช่วยปลูกจิตสำนึกให้กับคนในชุมชน ที่นำไปสู่การลดใช้โฟมและพลาสติก

จะเห็นได้ว่าความจริงแล้วขั้นตอนการกำจัดขยะในชุมชนไม่ได้ยาก เพียงแค่ร่วมมือร่วมใจกัน ก็ช่วยให้ชุมชนกลับมาสวยงาม น่าอยู่ ลดปริมาณขยะ และแบ่งเบาภาระการจัดการขยะได้มากแล้ว นอกจากนี้ยังถือเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า แถมเป็นการสร้างรายได้ไปในตัวอีกด้วย เอาเป็นว่าใครอยากให้ชุมชนของตัวเองเป็นชุมชนนักกำจัดขยะ ก็ลองนำแนวทางเหล่านี้ไปปรับใช้กันดู โดยเริ่มต้นที่ตัวเรานะคะ

 

Attachments:
Download this file (edi04210262p1-728x588.jpg)edi04210262p1-728x588.jpg[ ]110 Kb
Download this file (unnamed.jpg)unnamed.jpg[ ]112 Kb



 

องค์การบริหารส่วนตำบลดอนพุทรา
เลขที่ 68 หมู่ 8 ตำบลดอนพุทรา อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม 73150
โทรศัพท์ : 0-3496-6459
โทรสาร : 0-3496-6459
E-mail : donphutsa@donphutsa.go.th

สำนักปลัด : 0-3496-6459
กองคลัง :
0-3496-6459 
 
กองช่าง : 0-3496-6459  
กองสวัสดิการสังคม : 0-3496-6459 
 



 

นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล


ลิขสิทธิ์ © 2562 - 2567 องค์การบริหารส่วนตำบลดอนพุทรา จังหวัดนครปฐม สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.